ทางเลือกของคนยุคใหม่ กำจัดขยะเศษอาหารด้วยการหมักปุ๋ย ลดมลพิษ รักษาสิ่งแวดล้อม
สภาวะโลกร้อน (Global warming) อากาศแปรปรวน (climate change) และภัยธรรมชาติที่นับวันยิ่งรุนแรงขึ้นทุกที ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากขยะในมือของเราทุกคน เพราะทุกสิ่งจะมีประโยชน์หากยังคงใช้งานอยู่ แต่เมื่อไรที่หลุดจากมือเราลงสู่ถังขยะ ปลายทางของการกำจัดขยะ คือ มลพิษจำนวนมหาศาลที่จะกลายเป็นก๊าซเรือนกระจก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกของเราร้อนขึ้น ดังนั้น เราทุกคนคือต้นทางของการเกิดขยะ แต่เราสามารถช่วยกันหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างการเดินทาง ไปจนถึงปลายทางของกองขยะมหึมา
ขยะเศษอาหารหรือขยะเปียก เป็นขยะอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้เองธรรมชาติ แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ส่วนประกอบของก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั่นเอง นอกจากนี้ การทิ้งขยะอาหารรวมกับขยะประเภทอื่น ๆ ทำให้ขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เกิดการปนเปื้อน จนไม่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ได้อีกต่อไป ทำให้ต้องนำขยะทั้งหมดไปทำลายทิ้งที่บ่อขยะ เป็นการเพิ่มปริมาณขยะที่ต้องกำจัดด้วยการเผา ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ รวมไปถึงการย่อยสลายของขยะเศษอาหารที่ถูกนำไปทำลายด้วยการฝังกลบ ปล่อยก๊าซมีเทนปริมาณมหาศาล ซึ่งมีความรุนแรงยิ่งกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เกือบ 30 เท่า!
การแยกขยะจึงเป็นหัวใจหลักในการลดปริมาณขยะ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับขยะรีไซเคิล เพิ่มการใช้วัสดุหมุนเวียน และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชน ในขณะที่ขยะอื่น ๆ สามารถแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ แล้วขยะเศษอาหารล่ะ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใดได้บ้าง
ประโยชน์ของขยะเศษอาหารทำอะไรได้บ้าง ถ้าไม่นำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ
- นำขยะอาหารไปเลี้ยงสัตว์ เพราะเศษอาหารบางอย่างที่เราไม่ทานแล้ว หรือกินไม่ได้ แต่สามารถนำไปเป็นอาหารสัตว์อื่น ๆ ได้ เช่น เศษข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว เศษผักผลไม้ที่ถูกตัดหรือคัดแยกออกเพราะไม่สวย สามารถนำไปเลี้ยงไก่ เป็ด และหมูได้ ในขณะที่เศษอาหารชิ้นเล็ก ๆ ก็นำไปเลี้ยงปลา ส่วนเศษอาหารอื่น ๆ รวมไปถึงเนื้อสัตว์ไม่ติดกระดูกนำไปเลี้ยงสุนัขได้ หรือถ้ามีปริมาณขยะเศษอาหารจำนวนมาก จะแยกใส่ถุงไว้ต่างหาก แล้วนำไปให้เกษตรกรหรือปศุสัตว์ก็ได้เช่นกัน
- นำไปปลูกใหม่ สำหรับเศษผักส่วนที่เหลือ หรือเมล็ดผลไม้บางชนิด สามารถนำไปปลูกใหม่ได้ เช่น โหระพา ตะไคร้ สะระแหน่ แมงลัก ขิง กระเทียม แอปเปิล ฟักทอง น้อยหน่า เป็นต้น โดยสามารถนำส่วนของต้น ใบ ราก เมล็ด ไปปลูกหรือปักชำ
- นำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น กากกาแฟ สามารถนำไปใช้ขัดทำความสะอาดวัสดุหรือพื้นผิวบางประเภท ขัดสครับผิว หรือจะนำไปใช้ในการดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ตามบริเวณต่าง ๆ ภายในบ้าน ตู้เย็น ตู้กับข้าว หรือตู้เสื้อผ้า และยังใช้โรยต้นไม้เพื่อป้องกันมด หอยทาก และแมลงบางชนิดได้เช่นกัน เปลือกไข่สามารถนำไปใช้ผสมดินปลูกต้นไม้ หรือน้ำมันที่ใช้แล้วจากปรุงอาหารส่งต่อไปยังโรงงานผลิตน้ำมันไบโอดีเซล เป็นต้น
- นำเศษอาหารไปทำปุ๋ยและน้ำหมัก สำหรับเกษตรกร หรือคนที่ปลูกต้นไม้พืชผักขาย รวมไปถึงคนที่ปลูกผักทานเอง ย่อมรู้ดีว่า ขยะเศษอาหาร คือ วัตถุดิบชั้นเลิศของการทำปุ๋ยและน้ำหมัก เพราะได้แร่ธาตุและสารอาหารที่พืชต้องการครบถ้วน ทั้งไนโตรเจน โปรแตสเซียม ฟอสฟอรัส และอื่น ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีราคาแพง แถมยังปลอดภัยต่อผู้ผลิต และได้ผักออแกนิคดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค
ปัจจุบัน การแยกขยะเศษอาหารเพื่อนำไปหมักปุ๋ยออแกนิคได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากช่วยทำให้แยกขยะรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ยังทำให้ได้ปุ๋ยไปบำรุงพืชผักฟรี ไม่ต้องพึ่งสารเคมี ดีต่อสุขภาพ และยังเป็นการกำจัดขยะเศษอาหารแบบถาวร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้อย่างมากในแต่ละปี และถึงแม้ว่าไลฟ์สไตล์ของคนในยุคนี้ มีรูปแบบการอาศัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทาวน์เฮ้าส์ ทาวน์โฮม บ้านแฝด ตึกพาณิชย์ หรืออยู่ห้องเช่า หอพัก และคอนโด แต่ก็มีวิธีการหมักปุ๋ยจากขยะเศษอาหารให้เลือกทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่รอบบ้าน เช่น
1. การทำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน
วัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
- กะละมัง
- แกลบ
- มูลวัว (แช่น้ำ)
- ไส้เดือน
- มุ้งพรางแสงสีดำ
วิธีทำ
เจาะรูด้านล่างกะละมัง รองก้นด้วยแกลบ แล้วโรยแกลบข้าวรองพื้นกะละมัง จากนั้นตัดหรือหั่นเศษอาหารชิ้นใหญ่ ๆ เช่น เศษผักผลไม้ ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ลงไป ตามด้วยมูลวัวที่ผ่านการแช่น้ำแล้ว รดน้ำให้ชื้น แล้วนำไส้เดือนปล่อยลงในกะละมัง และคลุมปิดกะละมังด้วยมุ้งพรางแสงสีดำ หมักทิ้งไว้ประมาณ 30 วัน ก็จะได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนไปใช้ได้
วิธีนี้ใช้กะละมังวางไว้บริเวณระเบียง หรือบริเวณข้างบ้านได้ ใช้พื้นที่ไม่เยอะ แต่ค่อนข้างหลายขั้นตอน ใช้เวลานาน อาจกลิ่นและแมลงเล็ก ๆ เช่น มด แมลงวัน แมลงหวี่ รบกวนได้ จึงต้องระวังในเรื่องของความสะอาด และกลิ่นที่อาจรบกวนเพื่อนบ้าน ห้องใกล้เคียง
2. ถังหมักเศษอาหารปั้นปุ๋ย
ถังหมักที่เคลมว่าเหมาะกับชาวคอนโด มีวัสดุและอุปกรณ์อะไรบ้าง และวิธีทำยุ่งยากหรือไม่ ไปดูกัน
วัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
- บล็อกดินเผามีก้น 1 ชิ้น
- บล็อกดินเผามีตาข่ายถี่ 1 ชิ้น
- บล็อกดินเผามีตาข่ายห่าง 1 ชิ้น
- ฝาปิด 1 ชิ้น
- ถังใส่ดินสำหรับหมักเศษอาหาร 1 ชิ้น
- ฝาปิด 1 ชิ้น
- กระดาษหนังสือพิมพ์ หรือใบตอง
วิธีทำ
นำวัสดุทุกชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันจะได้เป็นลักษณะคอนโด โดยเรียงดังนี้
นำบล็อกดินเผามีก้นวางก่อน ตามด้วยบล็อกที่มีตาข่ายถี่ แล้วต่อด้วยบล็อกตาข่ายห่าง และปิดฝา สามารถโดนแดด โดนฝนได้ แต่ต้องจัดวางไว้ที่มีอากาศถ่ายเท จึงเหมาะกับการวางไว้ริมระเบียง แต่ไม่ควรวางใกล้กับคอมเพรสเซอร์แอร์ เพราะความร้อนจะทำให้จุลินทรีย์ตายเรียบ
วิธีหมักปุ๋ยด้วยเศษอาหาร
- นำกระดาษหนังสือพิมพ์หรือใบตอง วางทับ ๆ กันบนตาข่ายห่าง ๆ ของบล็อกที่ 2 นับจากบล็อกอันล่าง จากนั้นโรยดินลงไปให้ทั่ว ๆ เป็นชั้นบาง ๆ เพื่อกั้นไม่ให้เศษอาหารและดินร่วงลงไปบล็อกข้างล่าง
- แยกน้ำออกจากเศษอาหาร เช่น น้ำซุป น้ำก๋วยเตี๋ยว น้ำแกงต่าง ๆ ทิ้งเฉพาะกากอาหารลงไป อย่าให้มีน้ำติดไปด้วย จะทำให้มีความชื้นสูง มีกลิ่นเหม็นเน่า และทำให้บริเวณโดยรอบสกปรกเลอะเทอะได้
- ตักดินโรยทับลงไปให้ทั่ว ๆ และคลุกเคล้าให้เข้ากัน
- คอยพรมน้ำและโรยน้ำตาลรหรือน้ำหมัก เพื่อหล่อเลี้ยงจุลินทรีย์ไม่ให้ตาย
- คอยเปิดฝาสังเกต หากมีราสีขาว ๆ เหมือนปุ๋ยนุ่น แสดงว่ากำลังอยู่กระบวนการย่อย
- หมักทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน ให้เปิดตะแกรงเหล็กข้างล่างออก
- ใช้ส้อมหรือคราดเล็ก ๆ เขี่ย ๆ ตาข่าย ให้ดินร่วงลงมา ซึ่งมันก็คือปุ๋ยนั่นเอง
- นำปุ๋ยที่ได้ไปโรยต้นไม้ได้เลย
แต่วิธีนี้อาจมีกลิ่นรบกวนได้ หากวางไว้ในบริเวณที่อากาศไม่ถ่ายเท หรือเมื่อเปิดฝาก็จะมีกลิ่นโชยออกมาได้เช่นกัน นอกจากนี้อาจมีหนอน ซึ่งเป็นหนอนแมลงวันลาย ช่วยย่อยเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยเร็วขึ้น แต่ก็อาจมีแมลงอื่น ๆ เช่น แมลงหวี่ แมลงวัน หรือแมลงสาบได้เช่นกัน หากไม่รักษาความสะอาดให้มากพอ ใช้ได้นานหากบล็อกไม่แตกเสียก่อน คอนโดปั้นปุ๋ยสามารถรับเศษอาหารได้วันละประมาณ ½ กิโลกรัม หากบ้านไหนมีขยะเศษอาหารเยอะ สามารถซื้อบล็อกคอนโดเพิ่มได้ โดยจะมีจำหน่ายแยก บล็อกละประมาณ 300 – 350 บาท นำมาต่อชั้นขึ้นไปได้อีก แต่ไม่ควรสูงเกิน เพราะอาจทานน้ำหนักไม่ไหว หรือเสี่ยงต่อการร่วงหล่นลงมาแตกได้
3. เครื่องหมักปุ๋ยไฟฟ้า
หรือจะเรียกว่าเครื่องหมักขยะเปียกไฟฟ้าก็ได้เช่นกัน ซึ่งใช้ระบบไฟฟ้าในการเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยหมักแบบรวดเร็วทันใจ
วัสดุและอุปกรณ์
- เครื่องหมักปุ๋ยเศษอาหารแบบไฟฟ้า
วิธีหมักปุ๋ยด้วยถังหมักไฟฟ้า
- เสียบปลั๊กไว้ตลอดเวลาเหมือนตู้เย็น
- เปิดฝาและใส่เชื้อจุลินทรีย์ (แถมมพร้อมกับเครื่องหมัก) ลงในถังหมัก
- กรองน้ำออกจากกากอาหารแยกทิ้งต่างหาก
- เทกากเศษอาหารลงไป
- ปิดฝาแล้วกดปุ่มสตาร์ท
- ปล่อยให้เครื่องทำงาน
เครื่องกำจัดขยะเศษอาหารไฟฟ้าแบบนี้ (ดูรายละเอียดได้ที่ HASS Thailand) ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ไม่เสียเวลารอนาน แถมยังมีขนาดกระทัดรัด วางมุมเล็ก ๆ ในครัวได้สบาย ไม่ใหญ่เทอะทะกินพื้นที่จนแทบไม่มีที่จะเดิน ใช้ง่าย แค่เสียบปลั๊ก กรองน้ำแกงออก แล้วเทเศษอาหารลงไป เทลงไปได้ทั้งวัน เครื่องไม่รวน ไม่มีงอแง ใส่วัสดุหมักตั้งต้น (หัวเชื้อจุลินทรีย์) เพียงครั้งเดียว ไม่ต้องคลุก ไม่ต้องพลิก ไม่ต้องกลบ ทำงานได้เงียบกริบ ไม่โวยวาย ไม่มีกลิ่นรบกวนเพื่อนข้างห้องให้เกิดปัญหา และไม่มีแมลงมาคอยกวนใจ หมักง่าย ได้ปุ๋ยเร็ว เพียงแค่ชั่วข้ามคืน หรือไม่เกิน 48 ชั่วโมง เศษอาหารหายไปกลายเป็นปุ๋ยหมัก นำไปใส่ผักหรือบำรุงดินได้เลย สะดวกสบายและง่าย ๆ แถมรวดเร็วทันใจ ตอบรับกับวิถีชีวิตยุค 5G เหมาะกับทุกรูปแบบการอาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน หรือมนุษย์ตึก ชาวคอนโด สามารถทำปุ๋ยหมักได้ง่าย ๆ แถมยังช่วยกำจัดขยะเศษอาหารได้อย่างถาวร รักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน