อัลลินา เดย์ Bangkok Thailand
ครอบครัว ความรู้

ภาวะมีบุตรยากเกิดจากอะไรกันแน่นะ

คู่สามี-ภรรยา และคู่รักอีกหลายคู่ที่ประสบกับปัญหามีบุตรยาก ทั้งที่มีความพร้อมในการมีสมาชิกในบ้านเพิ่ม แต่เบบี๋น้อยกลับไม่พร้อมที่จะมาเป็นโซ่ทองคล้องใจ เนื่องมาจากภาวะการมีบุตรยากของว่าที่พ่อและแม่ 

ปัญหาการมีบุตรยากมีหลายสาเหตุและสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ซึ่งปัญหาการมีบุตรยากนี้เริ่มมีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศไทย แม้ว่าคู่สมรสที่มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ได้คุมกำเนิดจะมีอายุน้อยกว่า 35 ปี ที่ปกติจะมีโอกาสถึง 85% ในการตั้งครรภ์ ก็ตาม ภาวะมีบุตรยาก สาเหตุใหญ่ๆสามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้ 

ปัญหามีบุตรยากที่เกิดจากทางฝ่ายชาย 

ส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดจากทางฝ่ายชายจะเกิดจากไลฟ์สไตล์ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การสูบบุหรี่จัด การติดสารเสพติด รวมไปถึงปัญหาที่เกิดจากอายุและสุขภาพ เช่น อายุมากขึ้นทำให้การหลั่งอสุจิน้อยลง หรือไม่มีเชื้ออสุจิ ความผิดปกติของฮอร์โมน อสุจิไม่แข็งแรง เป็นหมัน หรือได้รับการบำบัดเคมี เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีภาวะมีบุตรยากผู้ชาย 

คู่สมรสที่มีบุตรยาก จะพบประมาณ 40% ที่มีสาเหตุจากปัญหาอสุจิ (Male Factor) ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจอสุจิ (Semen Analysis) เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำเชื้อ ปริมาณตัวอสุจิ รูปร่างตัวอสุจิ และการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ โดยก่อนที่จะทำการตรวจสุขภาพอสุจิ ฝ่ายชายจะต้องงดการมีเพศสัมพันธ์หรือหลั่งน้ำเชื้อเป็นเวลา 3 – 7 วัน และทำการเก็บอสุจิด้วยตัวเองใส่ภาชนะของโรงพยาบาลที่เตรียมไว้ให้ และส่งให้กับห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวิเคราะห์ภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากมีการหลั่งน้ำเชื้อ 

กรณีที่พบผลตรวจอสุจิมีความผิดปกติ แพทย์อาจจะทำการเจาะเลือด หรือเจาะชิ้นเนื้อลูกอัณฑะเพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม หากพบว่ามีความผิดปกติในส่วนบริเวณลูกอัณฑะ หรือไม่มีตัวอสุจิในน้ำเชื้อ ก็จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urologist) 

ปัญหามีบุตรยากที่เกิดจากทางฝ่ายหญิง 

ไลฟ์สไตล์ที่มักจะดื่มแอลกอฮอร์เป็นประจำ สูบบุหรี่จัด ติดสารเสพติด โภชนาการ  ความเครียด ความอ้วน อายุที่มากขึ้น และปัญหาด้านสุขภาพ ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีเนื้องอกในมดลูก มีัพังผืดในช่องเชิงกราน ภาวะไข่ไม่ตก ท่อรังไข่อุดตัน เป็นต้น ซึ่งอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณมดลูก มักจะมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนมามากหรือน้อยเกินไป หรือมีอาการปวดท้องผิดปกติ หากมีการตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ มีโอกาสที่จะหายและสามารถมีบุตรได้ตามธรรมชาติ เรามาดูปัจจัยที่จะมีผลต่อภาวะมีบุตรยากผู้หญิง ว่ามีอะไรบ้าง 

  • ปัญหาจากการตกไข่ โดยจะพบประมาณ 25% ในคู่สมรสที่มีบุตรยาก เนื่องมาจากภาวะการตกไข่ของฝ่ายหญิง แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม โดยการเจาะเลือดเพื่อดูค่าฮอร์โมน ไทรอยด์ และโพรแลกติน และอาจมีการให้ยากระตุ้นไข่ 

  • ปัญหาท่อนำไข่ โดยปกติในการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ ท่อนำไข่นับว่าเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก เพราะจะเป็นที่อสุจิมาพบกับไข่ของฝ่ายหญิงและเกิดการปฏิสนธิ หากท่อนำไข่มีการตีบตันหรือมีความผิดปกติ ก็สามารถส่งผลต่อปัญหาการมีบุตรเช่นกัน โดยแพทย์จะทำการตรวจเอกซเรย์ ฉีดสีดูท่อนำไข่ เพื่อตรวจสอบว่าท่อนำไข่ตีบตันหรือไม่ และจะได้ทำการผ่าตัดแก้ไข ให้สามารถทำงานได้ปกติ 

  • ปัญหาเยื่อบุในช่องท้อง คือ เนื้อเยื่อที่ปกคลุมอวัยวะภายในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน รวมถึงท่อนำไข่ รังไข่ มดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือมีแผลเป็น และพังผืด โดยอาการส่วนใหญ่คือปวดประจำเดือนมากผิดปกติ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง หรือมีอาการเจ็บในช่องคลอดและท้องน้อยเวลามีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาการเหล่านี้เสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยาก แนวทางการรักษาอาจผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อดูอุงเชิงกราน หากพบว่ามีรอยโรคดังกล่าว หรือถุงน้ำช็อกโกแลตซีสต์ที่รังไข่ ก็จะทำการจี้ไฟฟ้าทำลายรอยโรค เลาะถุงน้ำรังไข่ เลาะพังผืด และฉีดสีเพื่อประเมินดูการตีบตันของท่อนำไข่ในเวลาเดียวกัน 

  • ปัญหามดลูกและปากมดลูก โดยสาเหตุใหญ่ๆที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรยาก ที่เกิดจากมดลูกมีความผิดปกติ เช่น พังผืดในโพรงมดลูก ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก เนื้องอกในโพรงมดลูก ไปรบกวนการฝังตัวอ่อน และยังเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้ง่าย ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม ด้วยการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Pelvis) หรืออันตร้าซาวด์อุ้งเชิงกราน (Pelvic Ultrasound) หรือผู้หญิงที่เคยผ่าตัดปากมดลูกเพื่อการรักษา หรือ LEEP อาจมีผลข้างเคียงทำให้ปากมดลูกตีบตันหรือมีลักษณะผิดรูป ทำให้เป็นสาเหตุการมีบุตรยากฝ่ายหญิง หรือถ้ามีบุตรก็อาจเสี่ยงต่อการแท้งได้หรือคลอดก่อนกำหนดได้

ปัญหามีบุตรยากที่เกิดจากทั้งสองฝ่าย

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากที่มาจากทั้งสองฝ่าย จะมีการตรวจหาสาเหตุ โดยแพทย์จะทำการซักประวัติส่วนตัวฝ่ายชายและตรวจเชื้ออสุจิ โดยฝ่ายชายจะต้องทำการงดหลั่งอสุจิประมาณ 2 – 7 วันก่อนพบแพทย์ ในขณะที่ฝ่ายหญิงก็จะมีการซักประวัติส่วนตัวและทำการตรวจภายใน หรือตรวจระดับฮอร์โมนเพศ โดยแนวทางในการตรวจและรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์หลังจากซักประวัติและเช็คสุขภาพทั้งสองฝ่าย 

ภาพจำลองการทำ IUI

นอกจากนี้แนวทางในการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยทางการแพทย์แล้ว ยังมีการพึ่งพาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการฉีดเชื้ออสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (IUI : Intrauterine Insemination) การทำอี๊กซี่ (ICSI: Intracytoplasmic Sperm Injection) การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF: In Vitro Fertilization) และการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมระยะก่อนฝังตัว (PGT-A และ PGT-M) โดยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญและทีมสหสาขาวิชาชีพด้านนี้โดยตรง เพื่อจะได้เติมเต็มความต้องการของคู่รักที่ปรารถนามีบุตรได้สมบูรณ์อย่างปลอดภัย