13 มีนาคม ของทุกปี ได้กำหนดให้เป็น วันช้างไทย เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและความผูกพันธ์ระหว่างช้างกับคนไทยที่มีมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษ โดย วันช้างไทย ภาษาอังกฤษ คือ Thai Nationnal Elephant Day ซึ่ง ช้าง คือ สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของคนไทย และเคยปรากฏช้างเผือกอยู่ผืนบนธงชาติในครั้งยังได้ชื่อว่าเมืองสยาม อันเนื่องมาจากช้างเผือกคือสัตว์คู่บารมีพระมหากษัตริย์ ก่อนจะมาเปลี่ยนนามเป็นประเทศไทย รวมไปถึงลักษณะธงชาติไทยที่มีมาจนถึงปัจจุบัน
ลักษณะช้างไทย
ช้างเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ สามารถแยกตระกูลช้าง 2 ตระกูลด้วยกัน คือ ช้างแอฟริกา และ ช้างเอเชีย ซึ่งช้างประเทศไทยคือช้างเอเชียที่สามารถพบได้ตามป่าในประเทศไทย อินเดีย ศรีลังกา พม่า มอญ อินโดนีเซีย และ กัมพูชา โดยเอกลักษณ์ของช้างไทย คือ ศีรษะใหญ่ มีมันสมองมาก จึงมีความฉลาด สามารถนำมาฝึกและสื่อสารกับมนุษย์ได้ ต่างจากช้างแอฟริกาที่มีหัวเล็ก ใบหูใหญ่มาก มีความฉลาดน้อยกว่าช้างเอเชีย และนิสัยดุร้าย ไม่สามารถนำมาฝึกหรือใช้งานร่วมกับมนุษย์ได้
ช้างประเทศไทยในอดีต เปรียบเสมือนเป็นขุนพลรบเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับพระมหากษัตริย์ในสนามรบ โดยช้างเผือกที่ได้รับระวางเป็นช้างหลวง หรือเป็นช้างทรงประทับขององค์กษัตริย์ เรียกว่า “ช้างต้น” และเรียกคำหน้านามว่า “คุณพระ” เสมอ
ผู้ชำนาญทางคชศาสตร์ได้แบ่งลักษณะช้างไทย 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
- ช้างสามัญ คือ ช้างธรรมดาทั่วไป โดยเรียกตัวผู้ว่า ช้างพลาย และเรียกตัวเมีย ช้างพัง
- ช้างสำคัญ คือ ช้างที่มีลักษณะมงคลตามตำราคชลักษณ์ แต่ไม่สมบูรณ์ทุกส่วน
- ช้างเผือก คือ ช้างที่มีลักษณะมงคลตามคชลักษณ์ครบถ้วนทุกประการ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีสีขาวเท่านั้น แต่อาจมีผิวสีดำ แดง ม่วง เหลือง หรือสีเทาเขียว ก็ได้ โดยแบ่งช้างเผือก 3 ประเภท คือ
- ช้างเอก หรือช้างเผือกเอก มีลักษณะสมบูรณ์ดี ผิวขาวนวลเหมือนสีหอยสังข์ จัดเป็นช้างคู่บ้านคู่เมือง
- ช้างโท หรือช้างเผือกโท มีลักษณะสมบูรณ์ ผิวสีชมพูคล้ายสีกลีบดอกบัวแห้ง เรียกว่า ปทุมหัตถี เป็นช้างสำหรับใช้ออกรบ คือ ช้างศึก
- ช้างตรี หรือช้างเผือกตรี สีผิวเหมือนใบตองอ่อน เรียกว่า เศวตคชลักษณ์
ประวัติวันช้างไทย
เนื่องจากช้างไทยมีความสำคัญกับคนไทยมาตั้งแต่ครั้งในอดีต เพราะช้างเป็นทั้งขุนพลศึกจนไทยได้รับชัยชนะในแทบทุกสมรภูมิรบ และยังเป็นสัตว์คู่บารมีของกษัตริย์ไทยมาทุกรัชสมัย ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกและให้ทุกคนเล็งเห็นความสำคัญของช้างไทยมากกว่าเพียงการนำมาใช้งานหรือทรมานช้างใช้ในการทำมาหากินของมนุษย์เช่นในปัจจุบัน ที่มีการใช้ช้างทำงานหนักในทุกอุตสาหกรรม ทั้งการลากซุง ล้มไม้ ลากไม้ เดินเร่ร่อนบนถนน การเล่นกิจกรรโชว์ช้าง และอีกมากมาย จากความเห็นแก่ตัวของคนสมัยนี้ ทั้งที่ถ้าพูดกันให้เข้าใจแบบภาษาไทยง่าย ๆ คือ ช้างถือว่ามีบุญคุณต่อชีวิตคนไทยทุกคน คณะกรรมการอนุรักษ์ช้างไทย จึงได้ร่วมกันประชุมเพื่อพิจารณาวันที่เหมาะสมในการจัดตั้งเป็นวันอนุรักษ์ช้างไทย โดยในครั้งแรกได้มีมติให้ วันที่ 18 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาจากการทำยุทธหัตถี แต่เนื่องจากวันที่ 18 มกราคมได้ถูกกำหนดให้เป็นวันกองทัพไทยแล้ว จึงได้เปลี่ยนมาเป็นวันที่ 13 มีนาคม โดยมี ช้างเผือก เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย และได้ทำการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2541
กิจกรรมวันช้างไทยมีอะไรบ้าง
หน่วยงานรัฐบาลและเอกชนได้มีการจัดกิจกรรมวันช้างไทยมากมาย เช่น การจัดสะโตกช้าง คือ การจัดอาหารสำหรับช้างให้อย่างดี โดยส่วนใหญ่มักจะมีกิจกรรมตามปางช้างต่าง ๆ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน และเยาวชนเข้าชมฟรี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนไทยได้รู้สึกใกล้ชิด เห็นความสำคัญของช้างไทย และต้องการอนุรักษ์ช้างไทยสืบต่อไป
ช้าง คือ สัตว์ใหญ่ใจดี มีความเสียสละ มีความผูกพันธ์ รักพวกพ้อง ปกป้องดูแล และอาศัยร่วมกันเป็นครอบครัวเหมือนมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น ช้าง ยังเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองไทยมานาน แทนที่จะได้อาศัยกับครอบครัวช้างอยู่ในป่าตามวิถีชีวิตธรรมชาติ กลับต้องถูกนำมาใช้งานและเสียสละชีวิตปกป้องแผ่นดินผืนนี้ให้กับลูกหลานคนไทยได้อยู่กันอย่างอิสระมาจวบจนถึงปัจจุบัน เราควรระลึกถึงความดี สำนึกในบุญคุณและละอายแก่ใจที่ได้พรากพวกเขาจากป่ามาใช้งานและกรำงานศึก แทนการบังคับและนำเขามาใช้งานเยี่ยงทาสที่เรายังคงเห็นได้แทบทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตัวอย่าง พังไพลิน ที่ถูกใช้งานให้บรรทุกนักท่องเที่ยวมานานถึง 25 ปี จนต้องทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสกับกระดูกเบี้ยวผิดรูป ที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ตลอดชีวิต … คนไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้รู้จัก กตัญญุ กตเวทิตา ควรทำกับสัตว์ใหญ่ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องผืนแผ่นดินไทยเช่นนี้หรือ? ขออนุญาตฝากคำถามนี้ไว้ให้คิดใน “วันช้างไทย”