หน้าที่หลักของตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตคืออะไร ทำไมจึงควรเปลี่ยนมาใช้ตู้คอนซูมเมอร์
ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ไฟฟ้า คือส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในสถานที่หรือนอก กิจกรรมต่าง ๆ ส่วนใหญ่ล้วนแต่ต้องใช้ไฟฟ้าแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในเรื่องการให้แสงสว่าง ทำงาน ทำอาหาร ปรับอุณหภูมิ ให้ความบันเทิง และใช้ประโยชน์ในอีกหลาย ๆ ด้าน ทำให้ไฟฟ้ากลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกอาคารบ้านเรือนต้องมี ทำให้ต้องมีอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าเชื่อมโยงจากโรงงานไฟฟ้า ซึ่งเมื่อก่อนเราจะใช้ระบบการจ่ายไฟด้วยคัตเอาท์ แต่ปัจจุบันหลาย ๆ แห่งได้มีการเปลี่ยนมาใช้ Consumer Unit หรือ ตู้คอนซูมเมอร์แทนคัตเอาท์ แล้วเจ้าตู้คอนซูมเมอร์คืออะไร จุดประสงค์หลักของตู้นี้มีไว้เพื่ออะไร ทำไมจึงควรเปลี่ยนมาใช้คอนซูมเมอร์ วันนี้เราจะรู้ไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตมีหน้าที่อะไร
คอนซูมเมอร์ยูนิต คือ ตู้ที่ใช้สำหรับรวบรวมอุปกรณ์ควบคุมระบบไฟฟ้าจากมิเตอร์ไฟฟ้าสู่อาคารหรือพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งมักจะเป็นระบบไฟฟ้า 1 เฟส อย่าง บ้าน หรือ ห้องพัก เป็นศูนย์รวมระบบไฟฟ้า มีหลายขนาด หลายช่องสำหรับติดตั้งเบรกเกอร์ย่อยหรือวงจรย่อย แต่ขนาดที่นิยมใช้ทั่วไปจะมีตั้งแต่ 4 – 18 วงจร ทั้งแบบบัสบาร์เดี่ยวและบัสบาร์แยก
ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดในบ้าน อาคาร หรือสำนักงานต่าง ๆ โดยมีลักษณะเป็นกล่อง จึงมักเรียกกันสั้น ๆ ว่า ตู้ไฟ หรือ กล่องไฟ ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากกระแสไฟฟ้า และช่วยให้อุปกร์ต่าง ๆ ภายในกล่องเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนใหญ่จะเรียงกันอยู่ในแถวเดียวกัน ทำให้ง่ายต่อการซ่อมแซมและการดูแลรักษา โดยภายในตู้ประกอบไปด้วย เมนเซอร์กิตเบรกเกอร์ (Main Circuit Breaker) ที่ทำหน้าที่ควบคุมกระแสไฟเข้า – ออกทั้งหมด เซอร์กิตเบรกเกอร์ย่อย (Branch Circuit Breaker) สำหรับควบคุมวงจรย่อย และ อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่ว ไฟดูด ไฟช็อต RCD (Residual Current Devices) / RCBO (Residual Current Circuit Breaker with Overcurrent Protection) /RCCB รวมไปถึงอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ
ตู้คอนซูมเมอร์มีกี่แบบ
ตู้ไฟหรือตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตมี 2 ประเภทด้วยกัน โดยมีข้อดีของแบ่งจากการติดตั้งเป็นหลัก ได้แก่
- ตู้คอนซูมเมอร์แบบปลั๊กออน (Plug On Type) ข้อดีของตู้คอนซูมเมอร์ประเภทนี้ คือ ติดตั้งง่าย ไม่ต้องเดินสายไฟจากเมนเบรกเกอร์ไปยังเบรกเกอร์ลูกย่อย ไม่ต้องร้อยสายไฟให้ยุ่งยาก สะดวกและรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย แต่มีความปลอดภัยสูง เมื่อเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร สนามแม่เหล็กจะเหนี่ยวนำดูดส่วนคลิปขาหนีบของเบรกเกอร์ให้ยึดเกาะแท่งบัสบาร์แน่นมากยิ่งขึ้น ช่วยป้องกันการเกิดประกายไฟที่อาจนำไปสู่การเกิดระเบิด หรือเหตุไฟไหม้
- ตู้คอนซูมเมอร์แบบเดินรางปีกนก (Din Rail Type) เป็นการติดตั้งแบบเก่า ต้องเดินสายระหว่างเมนเบรกเกอร์และเบรกเกอร์ลูกย่อย โดยการนำเบรกเกอร์ไปยึดติดกับรางเหล็ก จากนั้นจึงใช้สายไฟเชื่อมต่อ ซึ่งจะต้องติดตั้งสายดินให้ได้มาตรฐานการไฟฟ้า เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟดูด ไฟช็อต สามารถออกแบบรูปวงจรได้หลากหลายเหมือนกับ Plug On มีความคงทนสูง อายุการใช้งานนานกว่า แต่ข้อเสียคอนซูมเมอร์รางปีกนกคือใช้เวลานาน และค่าบริการติดตั้งสูง
แต่ไม่ว่าจะเป็นตู้ไฟชนิดใดก็ตาม จะต้องติดตั้งในพื้นที่สามารถเข้าดูแลได้ง่าย สะดวกต่อการซ่อมแซม ควรห่างจากน้ำ อย่าให้มีความชื้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกไฟช็อต กรณีที่ใช้ฟิวส์ควบคุมไฟฟ้าแล้วฟิวส์เกิดขาด ให้เปลี่ยนฟิวส์ใหม่และเปลี่ยนเป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ ไม่ควรใช้วัสดุอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทองแดง หรือตัวนำชนิดใดก็ตามมาเชื่อมต่อแทนฟิวส์ และหากมีตู้คอนซูมเมอร์มากกว่า 1 ตู้ ควรติดตั้งรวมไว้ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้สะดวกต่อการควบคุม รวมไปถึงการซ่อมบำรุง และควรปิดเมนเบรกเกอร์ทุกครั้งก่อนเปลี่ยนอุปกรณ์ภายในตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต
การเลือกซื้อตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตต้องพิจารณาอะไรบ้าง
วิธีการเลือกตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตควรพิจารณาจากปัจจัย ดังนี้
จำนวนช่องของตู้
Consumer Unit จะมีช่องไว้ติดตั้งเบรกเกอร์วงจรย่อยที่ใช้เดินสายไฟในบ้าน ซึ่งจะมีจำนวนช่องให้เลือกตั้งแต่ 4 ช่อง ไปจนถึง 20 ช่อง ขึ้นอยู่กับรุ่นและแบรนด์ โดยแต่ละช่องจะรองรับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ทั้งแบบชิ้นเดียว เช่น ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น แอร์ หรือหลายชิ้นอย่าง ปลั๊กไฟ หลอดไฟ แล้วแต่วงจรที่ถูกออกแบบในการใช้งาน สามารถเลือกได้ตามจำนวนช่องที่ต้องการ โดยควรเผื่อไว้ประมาณ 2 – 3 วงจรสำหรับติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติมในอนาคต
หาซื้อได้ง่าย
ควรเลือก Consumer Unit ที่หาซื้อได้ง่าย มีแหล่งจำหน่ายทั่วไป สะดวกต่อการหาซื้อเปลี่ยนในกรณีเบรกเกอร์ชำรุด หรือเมื่อต้องการเพิ่มวงจรภายในบ้าน
แบรนด์มีคุณภาพดีและน่าเชื่อถือ
ข้อสำคัญในการเลือกซื้อตู้ไฟ Consumer Unit คือ คุณภาพและความน่าเชื่อถือของแบรนด์ โดยควรเลือกซื้อสินค้าที่เป็นแบรนด์มีชื่อเสียง รู้จักทั่วไปในวงการไฟฟ้า มีมาตรฐาน มอก. และมาตรฐานสากล IEC รับรอง เพราะการันตีได้ถึงคุณภาพของแบรนด์ มั่นใจได้ถึงความปลอดภัยในการใช้งาน
ควรเลือกตู้คอนซูมเมอร์ที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า ป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า ไม่เป็นวัสดุลามไฟหรือติดไฟง่าย แข็งแรง ทนทาน ต่อการใช้งาน
แหล่งจำหน่ายน่าเชื่อถือ
นอกจากเลือกแบรนด์สินค้าน่าเชื่อถือแล้ว ควรเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่มีความน่าเชื่อถือด้วย เพื่อจะได้มั่นใจว่าได้สินค้าแบรนด์แท้ มีความปลอดภัยในการใช้งาน และควรมีทีมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยตรง วิศวกร หรือช่างไฟมืออาชีพ สามารถให้คำแนะนำในการเลือกวัสดุให้ตรงกับการใช้งานได้อย่างตรงจุด อย่าง SQD Groups อุปกรณ์ไฟฟ้าชั้นนำระดับโลก ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์คุณภาพระดับสากล ไม่ว่าจะเป็น Schneider , BCC หรือว่า Yazaki พร้อมด้วยทีมงานมืออาชีพที่คอยให้คำแนะนำ ได้อย่างครบถ้วน ครบทุกความต้องการอุปกรณ์ไฟฟ้า ทั้งภายในอาคารและโรงงานขนาดใหญ่