อัลลินา เดย์ Bangkok Thailand
ความรู้ ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์

มือใหม่หัดขับรถคนเดียว ควรรู้วิธีการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินอะไรบ้าง

สำหรับมือใหม่หัดขับที่มีเหตุจำเป็นต้องโชว์เดี่ยว ขับรถคนเดียวอาจเปลี่ยวใจสักหน่อย แม้ว่าสถานการณ์บังคับ หรือรู้สึกมั่นใจมากแค่ไหน แต่การเตรียมตัวรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยไม่เคยคาดคิดมาก่อน ย่อมช่วยแก้ไขปัญหาให้ผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งเหตุฉุกเฉินต่อไปนี้ คือสิ่งที่คนขับรถควรรู้วิธีแก้ไข และเตรียมตัวในการรับมือให้ได้ เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาในขณะขับรถ

1. เบรครถยนต์ขัดข้อง

กรณีที่ระบบเบรคเกิดขัดข้องระหว่างขับรถ ถือว่าเป็นสถานการณ์อันตรายมาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นในขณะที่ขับรถด้วยความเร็วสูง เพราะอาจควบคุมรถไม่ได้ และไม่สามารถนำรถจอดเทียบข้างได้ จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ดังนั้น ควรขับรถด้วยความเร็วที่เหมาะสมอยู่เสมอ และควรตรวจสอบระบบเบรคทุกครั้งก่อนขับรถ แต่ถ้าหากเกิดเบรครถยนต์ขัดข้องระหว่างขับรถกระทันหัน ให้ทำการ “บีบแตร” เป็นระยะ ๆ เพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ขับขี่ท่านอื่น หรือผู้สัญจรบนท้องถนนได้รับรู้ว่า เบรครถยนต์ของคุณมีปัญหา 

ส่วนกรณีเกิดเบรครถยนต์ขัดข้องระหว่างขึ้นเขา – ลงเขา ผู้ขับห้ามใช้เบรกมือ แต่ควรปล่อยคันเร่ง และลดเกียร์ต่ำจนกว่าจะถึงทางชันเล็กน้อย หรือจนกว่าจะถึงทางราบ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้เบรครถยนต์ร้อนเกินไป 

2. ยางรถยนต์แตก 

ยางรถยนต์แตก เป็นสิ่งที่อันตรายต่อผู้ใช้รถอย่างมาก เพราะอาจทำให้คนขับตกใจกับเสียงดังลั่นที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งหัดขับรถ อาจควบคุมสติไม่ได้ เพราะมัวแต่ตกใจ จนลืมว่าควรทำอย่างไรต่อไป อย่างแรกเลยคือ คนขับรถจะต้องมีสติตลอดเวลาในขณะที่ขับรถ เมื่อเกิดเสียงยางรถยนต์แตก จะได้ควบคุมตัวเอง ไม่ลนลานจนอาจเกิดอุบัติเหตุตามมาได้ โดยทั่วไป เมื่อยางรถแตก รถยนต์จะเกิดเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ผู้ขับไม่ควรรีบเหยียบเบรกทันที แต่ให้ค่อย ๆ แตะเบรกเป็นระยะ เพื่อลดความเร็วลงช้า ๆ ในขณะที่มือก็ควรจับพวงมาลัยให้แน่น เพื่อคอยประคองทิศทางรถในการนำรถจอด และแนะนำว่า ควรเช็กสภาพยางรถยนต์ก่อนทำการขับขี่เสมอ 

3. เครื่องยนต์ขัดข้อง 

เมื่อเกิดเหตุเครื่องยนต์ขัดข้องขณะขับรถ ให้เหยียบเบรคเป็นระยะ ๆ เพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้อื่นทราบว่ารถคุณกำลังมีปัญหา แล้วพยายามประคับประคองรถจอดเทียบข้างทาง พร้อมกับเปิดไฟฉุกเฉิน แล้วโทรเรียกช่าง หรือศูนย์ประกันภัยรถยนต์ทันที วิธีป้องกันกรณีเครื่องยนต์ขัดข้องที่ดีที่สุด คือ การคอยตรวจสอบสภาพความพร้อมของเครื่องยนต์ก่อนใช้งานเสมอ โดยอาจนำรถเข้าทำตรวจสอบที่ศูนย์บริการ ตามระยะการกำหนดอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสความเสี่ยง

4. ไฟหน้าขัดข้อง 

ไฟหน้ารถขัดข้อง อาจเกิดจากสายไฟขัดข้อง หรือ “แบตเตอรี่อ่อนกำลัง” หรือ แบตหมด ส่งผลต่อการทำงานของระบบไฟฟ้ารถยนต์ หากมีปัญหาระบบไฟหน้ารถขัดข้อง หรือไฟหน้ารถดับ ให้ทำการลดความเร็วลง เพื่อหาที่ปลอดภัยในการจอดรถเทียบข้างทาง 

5. คันเร่งค้าง 

เมื่อเกิดปัญหาคันเร่งค้างระหว่างขับรถ แนะนำให้เปลี่ยนเป็นเกียร์ว่างทันที จากนั้น ค่อย ๆ แตะเบรค แล้วนำรถจอดเทียบข้างทาง และดับเครื่องยนต์ลง เพื่อป้องกันเครื่องยนต์ชำรุด กรณีที่ใช้เบรคไม่ได้ ควรประคับประคองรถไปยังจุดแข็งแรงเพื่อหยุดรถ โดยนำฝั่งที่ไม่มีคนนั่งเข้าชน เพื่อทำการหยุดรถ แม้ว่าอาจจะเจ็บตัวบ้าง แต่ย่อมดีกว่าปล่อยให้รถวิ่งต่อไปด้วยความเร็วที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่นมากกว่านี้  

แม้ว่าปัญหา คันเร่งค้าง จะไม่ค่อยเกิดขึ้นได้บ่อยนัก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัตเหตุขณะขับรถ ควรเช็กสภาพรถด้วยตนเอง หรือนำรถไปตรวจสอบอยู่เสมอ 

6. กระจกหน้ารถร้าว กระจกหน้ารถแตก 

เมื่อเกิดกระจกหน้ารถร้าวหรือแตกระหว่างที่ขับรถ ให้ลดความเร็วลงทันที แล้วค่อย ๆ นำรถจอดเทียบข้างทาง อย่าฝืนขับต่อไป เพราะกระจกรถอาจแตกมากขึ้นและทำให้เกิดอุบัติเหตุ เมื่อจอดรถแล้ว หากต้องการนำกระจกรถออกเอง ควรนำผ้าหรือผ้ายางมารองบริเวณคอนโซล พื้นรถ และบริเวณกระโปรงหน้ารถ เพิ่มความสะดวกในการเก็บเศษกระจกได้ง่ายขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดรอยจากเศษกระจก หรือจะใช้ผ้าชุบน้ำแล้วซับเศษกระจกที่หล่นกระจายก็ได้ แต่ห้ามใช้มือหยิบหรือจับเศษกระจกเด็ดขาด 

กรณีที่จู่ ๆ กระจกหน้ารถร้าว หรือกระจกรถแตก อาจเกิดจากมีเศษหินหรือของแข็งกระดอนมากระทบกระจกอย่างแรง โดยเฉพาะเมื่อขับรถบนถนนขุรขระ มีเศษหินเศษดินแข็งกระจายทั่วไป ดังนั้น เมื่อต้องขับขี่บนเส้นทางดังกล่าว ควรชับเว้นระยะห่างจากรถคันด้านหน้า เพื่อป้องกันเศษหินหรือของแข็งต่าง ๆ กระเด็นมาโดนกระจกหน้ารถ