อัลลินา เดย์ Bangkok Thailand
ความรู้ บ้านเรือน

ดีไซน์แบบโมดูล่าร์และแบบไม่รวมศูนย์ ทางเลือกใหม่ของตู้คอนซูมเมอร์ ยูนิต (Consumer Units)

ตู้คอนซูมเมอร์ ยูนิต (Consumer Unit) หรือที่เราเรียกกันบ้านๆ ว่ากล่องฟิวส์หรือกล่องเซอร์กิต เบรกเกอร์ (Circuit Breaker) เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญเป็นอย่างมากในบ้านของเรา หรือตึกรามบ้านช่องต่างๆ ตู้คอนซูมเมอร์ ยูนิตมีหน้าที่ควบคุมและกระจายกระแสไฟฟ้าไปให้กับวงจรไฟฟ้าภายในอาคาร รวมไปถึงตัดกระแสไฟฟ้าทันทีที่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เราสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย

ในปัจจุบัน ตู้คอนซูมเมอร์ ยูนิตก็มีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของการดีไซน์และฟังก์ชั่นการใช้งานต่างๆ ผู้ผลิตหลายรายต่างก็พยายามพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อการใช้งานเฉพาะทางมากขึ้น เช่น ตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตแบบโมดูล่าร์ (Modular Consumer Units) และตู้คอนซูมเมอร์ ยูนิตแบบไม่รวมศูนย์ (Decentralised Consumer Units) ซึ่งเราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกันว่าทั้งแบบโมดูล่าร์และแบบไม่รวมศูนย์คืออะไร มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไรบ้าง พร้อมแล้ว ไปพร้อมกันเลย

ตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตแบบโมดูล่าร์ (Modular Consumer Units)

ตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตแบบโมดูล่าร์คือยูนิตหรือโมดูล่าร์ที่รวมกล่องฟิวส์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์หลายๆ ระบบ/วงจรเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ควบคุมและจัดการกับระบบไฟฟ้าภายในอาคารที่จำเป็นต้องมีการปรับแต่งหลากหลายแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภท เช่นภายในโรงงานขนาดใหญ่เป็นต้น

ตู้คอนซูมเมอร์ ยูนิตประเภทนี้ก็มีข้อดีหลายหลายแบบด้วยกัน ดังนี้

มีความยืดหยุ่น: เราสามารถปรับเปลี่ยนในส่วนที่ต้องการ หรือปรับเฉพาะที่ได้โดยที่ไม่ต้องไปยุ่งกับส่วนอื่นๆ หรือยกเครื่องใหม่ก็ได้ รวมไปถึงจะปรับเปลี่ยนขนาดก็สามารถทำได้ง่ายกว่าตูคอนซูมเมอร์ฯ แบบเดิม ทำให้เหมาะเป็นอย่างมากทั้งการใช้งานภายในที่อยู่อาศัยหรือภาคธุรกิจ

ง่ายต่อการติดตั้ง:  ตู้คอนซูมเมอร์ฯ แบบโมดูล่าร์มักจะติดตั้งง่ายและเร็วกว่าตู้คอนซูมเมอร์ฯ แบบดั้งเดิมมาก เพราะเราสามารถนำมาประกอบตรงหน้างานได้เลย ไม่จำเป็นต้องสร้างไว้ก่อนและนำมาติดตั้งทีหลัง

แต่ถึงแม้จะมีข้อดียังไง การทำตู้คอนซูมเมอร์แบบโมดูล่าร์ก็มีข้อเสียเช่นกัน

ราคา: การติดตั้งตู้คอนซูมเมอร์ฯ แบบโมดูล่าร์นั้นเรียกได้ว่ามีราคาแพงกว่าแบบดั้งเดิมอยู่มาก โดยเฉพาะหากระบบมีความซับซ้อนมากก็จะยิ่งแพงกว่าแบบเดิมๆ ไปมากเลยทีเดียว

การบำรุงรักษา: ตู้คอนซูมเมอร์ฯ ประเภทนี้จำเป็นต้องดูแลอย่างสม่ำเสมอ และบ่อยกว่าแบบปกติมาก เพราะชิ้นส่วนมีความซับซ้อนมากกว่า แต่ก็สามารถเปลี่ยนหรือซ่อมแซมได้ง่ายเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ตามมาด้วยค่าบำรุงรักษาเปลี่ยนโมดูลที่ยังมีราคาที่สูงอยู่

ความยุ่งยากและความซับซ้อน: ตู้คอนซูมเมอร์ฯ แบบโมดูลจะมีความยุ่งยากในการติดตั้งในแง่ของการโปรแกรมระบบมากกว่าแบบธรรมดา โดยเฉพาะกับคนที่อาจไม่ได้ช่ำชองการติดตั้งมากนัก

ตัวอย่างตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตแบบโมดูลก็อย่างเช่น Wylex NMRS10SSLMHI Consumer Unit 10Way, หรือ Hager Design 10 เป็นต้

ตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต แบบไม่รวมศูนย์ (Decentralized Consumer Units)

ตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตแบบไม่รวมศูนย์ถูกออกแบบมาเพื่อกระจายพลังงานไฟฟ้าไปตามส่วนต่างๆ ของอาคารโดยไม่ต้องผ่านระบบควบคุมกลาง (central panel) เพราะยูนิตเช่นนี้สามารถติดตั้งไปที่เซอร์กิตที่ใกล้ที่สุดได้เลย ซึ่งจะทำให้มีความยืดหยุ่นในการควบคุมได้มากขึ้น รวมไปถึงสามารถเพิ่มสามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (ประหยัดมากขึ้นนั่นเอง) ประโยชน์อื่นๆ ก็อย่างเช่น: 

ลดปริมาณการใช้สายเคเบิล: ด้วยความที่เป็นยูนิตที่สามารถติดตั้งใกล้กับวงจรเซอร์กิตที่ใกล้ที่สุด ทำให้ความต้องการในการใช้สายเคเบิลหรือสายไฟลดน้อยลง ซึ่งนอกจากจะทำให้พลังงานไม่ถูกลดทอนไปมาก ยังประหยัดค่าสายไฟได้อีกด้วย

เพิ่มความปลอดภัย: จากการที่ไม่ต้องกระจุกวงจรเซอร์กิตไว้ที่เดียวกัน ทำให้ปริมาณในการใช้พลังงานต่อพื้นที่น้อยลง ความร้อนสะสมอยู่ในขั้นระบายได้ง่าย ทำให้ช่วยลดโอกาสในการเกิดไฟฟ้าช็อต ที่เป็นสาเหตุหลักของไฟไหม้ได้ (เป็นหนึ่งในปัจจัยช่วยลด แต่โอกาสในการเกิดไฟฟ้าช็อตยังเกิดได้อีกหลายสาเหตุ)

เพิ่มความยืดหยุ่นในการติดตั้ง: ไม่ใช่แค่ในแง่ของการติดตั้งหน้างานเท่านั้น ยังรวมไปถึงการติดตั้งในพื้นที่ที่ตู้คอนซูมเมอร์แบบดั้งเดิมไม่สามารถเข้าไปติดตั้งได้ เช่นในตึกเก่า หรือพื้นที่ห่างไกล เพราะปัจจัยในเรื่องของการขนส่งและการเดินทาง

แต่อย่างไรก็ตาม ตู้คอนซูมเมอร์แบบไม่รวมศูนย์ยังคงมีข้อที่ต้องพิจารณาเช่นกัน เช่น:

เพิ่มความยุ่งยากในการติดตั้ง: แม้จะยืดหยุ่น แต่ก็สามารถเป็นเรื่องยุ่งยากได้ เพราะอย่างที่กล่าวไว้ว่าเป็นยูนิตสามารถติดตั้งใกล้กับวงจรเซอร์กิตที่ใกล้ที่สุดได้ แต่นั่นก็หมายถึงภายในอาคารอาจต้องติดตั้งหลายส่วนมากขึ้น และในการติดตั้งแต่ละส่วนก็ต้องมีการติดตั้งที่ได้มาตรฐานในทุกจุด การดูแลก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ราคา: ด้วยความที่ต้องติดตั้งในหลายๆ จุด ทำให้งบประมาณอาจบานปลายได้ ทั้งในส่วนของยูนิตเองและค่าดำเนินการติดตั้งจากผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงค่าดูแลที่หากนำเอาหลายๆ จุดมารวมกันอาจจะมากกว่าตู้คอนซูมเมอร์ฯ แบบดั้งเดิมจุดเดียว

ตัวอย่างของตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตแบบไม่รวมศูนย์แบบนี้ก็จะมี ABB i-bus KNX System (ระบบเน็ตเวิร์คควบคุมแบบไม่รวมศูนย์) และ Schneider Electric Acti 9 (หรือที่บ้านเราเรียกว่าเบรกเกอร์ลูกย่อยนั่นเอง)

ตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตขนาดใหญ่ที่ใช้ภายในโรงงาน

สรุป

การใช้ตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตแบบเดิมที่เป็นตู้ใหญ่ๆ ใส่เบรกเกอร์หลายๆ ยูนิตรวมกันไว้ที่เดียวไม่ใช่เรื่องที่ตกยุคอะไร หากที่ไหนมีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนก็ได้ แต่สำหรับผู้ที่กำลังพิจารณาติดตั้งตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตแบบใหม่ที่ตอบโจทย์การใช้งานบางอย่างและสามารถมองข้ามข้อสังเกตที่อาจไม่ใช่ข้อเสียที่รุนแรงมากมายนัก การเปลี่ยนไปใช้แบบใหม่ก็อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นแบบเก่า หรือแบบใหม่ แบบโมดูลหรือแบบไม่รวมศูนย์ แต่ละฝ่ายก็มีข้อดีข้อเสียในตัวของมันเอง เพียงแค่ก่อนจะติดตั้งอาจจะต้องพิจารณาให้รอบคอบเพราะเราต้องใช้งานมันไปอีกนานหลายปี

สุดท้าย ติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ เพิ่มเติมที่นี่ Allinaday Blog