อัลลินา เดย์ Bangkok Thailand
ความรู้ ไลฟ์สไตล์

วันอาสาฬหบูชาสำคัญอย่างไร 

คนไทยและพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่รู้กันดีว่า วันอาสาฬหบูชาคือวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เพราะมีเหตุการณ์สำคัญ และหลักหัวใจพุทธศาสนาได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในวันนี้

วันอาสาฬหบุชา ออกเสียงว่าอย่างไรกันแน่?

คำว่า “อาสาฬหบูชา” สามารถอ่านได้ 2 แบบ คือ อา-สา-ละ-หะ-บู-ชา หรือ อา-สาน-หะ-บู-ชา และสำหรับวันอาสาฬหบูชาภาษาอังกฤษ คือ Asanha Bucha Day หรือ Asanha Puja Day

วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันใด วันอาสาฬหบูชาขึ้นกี่ค่ำ?

วันอาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และถือเป็นวันหยุดราชการและธนาคาร 

วันอาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 มีความสำคัญอย่างไร

อาสาฬห หมายถึง เดือน 8 ทางจันทรคติ ดังนั้น อาสาฬหบูชา หรือ วันอาสาฬหบูชา จึงหมายถึง วันที่มีการบูชาในเดือน 8 เพื่อระลึกถึงวันอาสาฬหบูชาเหตุการณ์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 

1.พระรัตนไตรครบองค์ 3 ประการ ซึ่งพร้อมไปด้วย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 

2.ประกาศศาสนาครั้งแรก โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคี ด้วย “ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร” 

3.พระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม หลังฟังพระปฐมเทศนาจากพระพุทธเจ้าจบ 

กล่าวได้ว่าความสำคัญวันอาสาฬหบูชา คือ วันที่มีพระรัตนตรัยครบถ้วนเป็นครั้งแรกนั่นเอง 

ประวัติวันอาสาฬหบูชา 

หลังจากที่พระพุทธได้ตรัสรู้ 2 เดือน ได้ระลึกถึงปัจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และ พระอัสสชิ ที่เคยดูแลปรนนิบัติรับใช้พระองค์ก่อนจะได้ตรัสรู้ จึงเดินทางไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ณ แคว้นมคธ และพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมครั้งแรก เป็นปฐมเทศนา หรือ เทศน์กัณฑ์แรก คือ ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ที่มีเนื้อหาใจความสำคัญเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินชีวิต ด้วยหลัก อริยสัจ 4 และ อริยมรรค 8 โดยปฏิบัติอยู่บนเส้นทางสายกลาง เพื่อให้เข้าถึงการดับทุกข์ที่แท้จริง คือ นิพพาน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา และเมื่อพระพุทธองค์ได้เทศนาจนจบ พระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบัน จึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” กล่าวได้ว่า พระโกณฑัญญะคือพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมา พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทตามลำดับ ทำให้วันนี้ได้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก ซึ่งได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ และเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช 45 ปี

หลักธรรมสำคัญวันอาสาฬหบูชา 

1.มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง 

เป็นหลักธรรมที่สอนให้ดำเนินชีวิตตามความเป็นจริงอย่างเป็นกลาง คือ ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป ไม่ทำจนเบียดเบียนตนเอง หรือหละหลวมกับชีวิตเกินไป หลงงมงายกับอบายมุข 

2.อริสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 

หลักธรรมที่แสดงถึงความจริงของชีวิต 4 ประการ ได้แก่ 

  • ทุกข์ : ความไม่สบายกายไม่สบายใจทั้งหลาย 
  • สมุทัย : เหตุแห่งความไม่สบายทั้งหลาย 
  • นิโรธ : การดับทุกข์
  • มรรค : ข้อปฏิบัติแห่งการดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรค หรือ มรรคมีองค์ 8 ประการ ได้แก่ 

  1. สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ คือ ทำความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่หลงผิด มัวเมาทางชั่ว
  2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริต คิดแต่ในสิ่งที่ดีงาม 
  3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต ไม่มดเท็จ พูดคำปด ส่อเสียดให้ร้าย
  4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการสุจริต กระทำแต่สิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ 
  5. สัมมาอาชีวะ  อาชีพชอบ คือ ดำรงอาชีพที่สุจริต ไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น 
  6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ การละความชั่วทั้งปวง เพียรทำความดี 
  7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ พึงระลึกและมีจิตสำนึกที่ดี 
  8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ พึงคุมจิต ให้มีสติ ไม่ฟุ้งซ่าน 

พิธีวันอาสาฬหบูชา จัดกิจกรรมและกำหนดเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2501 โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ที่ดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาในครั้งนั้น ได้เสนอคณะสังฆมนตรี เพิ่มวันอาสาฬหบูชา เป็นวันศาสนพิธีทางพุทธในประเทศไทย และเมื่อคณะสังฆมนตรีได้ลงมติและกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 และได้ประกาศให้มีกิจกรรมของวันอาสาฬหบูชาที่ทุกวัดจะต้องถือปฏิบัติทั่วกัน และสถานที่สำคัญทางราชการ และเอกชนบางแห่ง ก็ให้ความสำคัญและจัดกิจกรรมวันอาสาฬหบูชาเช่นกัน 

การปฏิบัติตนในวันอาสาฬหบูชา และ กิจกรรมที่ควรปฏิบัติวันอาสาฬหบูชา มีอะไรบ้าง?

  • บูชาพระรัตนตรัย ทางในทางอามิสบูชา และ ปฏิบัติบูชา 
  • ทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรม รักษาอุโบสถศีล ดูแลบิดามารดา 
  • เวียนเทียนวันอาสาฬหบูชา 
  • ศึกษาหลักธรรม โดยเฉพาะ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นหลักธรรมแรกในวันอาสาฬหบูชา 
  • ปฏิบัติกรรมฐาน สมถกรรมฐาน วัปัสสนากรรมฐาน