อัลลินา เดย์ Bangkok Thailand
ความงาม ความรู้ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์

LGBT ความหลากหลายทางเพศ หรือ เพศทางเลือก 

จากเมื่องานฉลอง Pride Month เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร่วมเดินขบวนไพรด์พาเหรด ซึ่งเป็นกิจกรรมบางกอกนฤมิตไพรด์ (Bangkok Naruemit Pride 2022) ที่ถูกจัดขึ้นโดยบางกอกนฤมิตไพรด์ ที่จับมือกับเครือข่ายนักกิจกรรมเพื่อความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมเดินในขบวนด้วย ตั้งแต่ประชาชนชาววัดแขก (วัดพระศรีมหาอุมาเทวี / สีลม) จนถึงสีลม ซอย 2 (เขตบางรัก)

โดยกิจกรรมนี้ได้มีการผู้คนหลากหลายทางเพศมาร่วมกิจกรรม ทั้งเดินขบวน และร่วมชื่นชมยินดีตลอดสองข้างทาง โดยมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติให้ความสนใจอย่างคับคั่ง  ซึ่งในขบวนก็มีกิจกรรมพาเหรดไพรด์ 6 สี ด้วยกัน ที่สื่อมาจากสีธงสัญลักษณ์ (Lgbt flag) แห่งเพศทางเลือก LGBT โดยมีขบวนกลุ่ม สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน และ สีม่วง และคำกล่าวจากผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ว่า เทศกาล Pride Month เป็น 1 ใน 12 เทศกาลตลอดปีกรุงเทพฯ อีกทั้งยังมีนโยบาย LGBTQ ในกทม. ซึ่งเป็น 1 ในนโยบาย 214 ข้อ ที่จะต้องให้สิทธิเท่าเทียมกันทุกกลุ่มเพศ โดยไม่มีการแบ่งแยก ยึดหลัก ยอมรับความแตกต่าง แต่ไม่แตกแยก นอกจากสีสันขบวนพาเหรดในงานจะสร้างความตื่นเต้นและรอยยิ้มให้กับทุกคนที่ได้ร่วมงานแล้ว คำกล่าวของท่านผู้ว่ากทม.อย่าง นาย ชัชชาติ ก็ทัชใจทุกเพศทุกวัยจริงๆ 

LGBT คืออะไร

แอลจีบีที หรือ LGBT คือ คำที่ใช้เรียกกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยตัวอักษร L G B T เป็นตัวย่อที่มาจากประเภทกลุ่มคนดังนี้ 

  • L : Lesbian คือ กลุ่มผู้หญิงที่รักเพศหญิงด้วยกัน 
  • G : Gay คือ กลุ่มผู้ชายที่รักเพศชายด้วยกัน
  • B : Bisexual คือ กลุ่มเพศที่รักโดยไม่จำกัดเพศ ไม่ว่าจะเพศเดียวกันหรือเพศตรงกันข้าม 
  • T : Transgender คือ ชายหรือหญิง ที่เปลี่ยนตัวเองให้เป็นเพศตรงกันข้าม

นอกจากนี้ยังมีแยกย่อยไปอีกหลายกลุ่ม และกลุ่มที่ใช้อักษรตัวอื่นต่อท้าย เช่น 

  • LGBTQ โดยตัว Q ย่อมาจาก Queer หรือ Genderqueer คือผู้ที่ไม่ได้รักเพศตรงข้าม และไม่เจาะจงว่าตนเป็นเพศใด เป็นชายหรือหญิง ซึ่งก้ำกึ่งหรือมีความผสมผสานทั้งสองเพศ 
  • LGBTI ตัว I (ไอ) ย่อมาจาก Intersex คือ ผู้ที่มีทางกายภาพที่ไม่ระบุเพศได้ชัดเจน
  • LGBTQA ตัว A ย่อมาจาก … 

-Asexual คือ กลุ่มคนที่ไม่สนใจเรื่องเซ็กส์ 

-Aromantic คือ กลุ่มคนที่ไม่สนใจในเรื่องเพศ และไม่ต้องการความสัมพันธ์ทางกาย

-Ally หรือ LGBT Ally คือ พันธมิตรของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งไม่ได้เป็น LGBT แต่ก็สนับสนุน และพร้อมจะเรียกร้องสิทธิ์ให้กับกลุ่ม LGBT ซึ่งอาจเป็นญาติพี่น้อง เพื่อน คนรัก หรือบุคคลทั่วไปที่ไมได้รู้จักกันเลยด้วยซ้ำ 

  • Panromantic :คนที่รักได้โดยไม่จำกัดเพศของอีกฝ่าย 
  • Non-binary : คนที่ไม่ได้จำกัดเพศตนเอง
  • Pansexual : คนที่มีแรงดึงดูดกับทุกเพศ โดยไม่จำกัด 

และเมื่อมีการเรียกร้องสิทธ์ของกลุ่ม LGBT จนได้กำเนิดธงสีรุ้ง สัญลักษณ์แห่งกลุ่ม  LGBTQ+ ซึ่งออกแบบโดยศิลปินนักทำธง “กิลเบิร์ต เบเกอร์” ซึ่งได้นำผ้าไปย้อมได้ทั้งหมด 8 เฉดสี แล้วนำมาเย็บมือประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อใช้ในขบวน Gay Freedom Day Parade ซึ่งถูกจัดขึ้นที่ซานฟรานซิสโก ในปี1978 ภายใต้คอนเซ็ปต์ ความหลากหลายที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน เฉกเช่นเดียวกับสีทั้ง 8 เฉด ที่แตกต่างทางความหมาย แต่กลับอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน และธงสีรุ้ง (rainbow flag) ถูกนำมาใช้ประกอบในการเดินขบวนในวัน Gay Freedom Day ที่สหรัฐอเมริกา โดยความหมายของธงสีรุ้งมีดังนี้ 

  • สีชมพู : เพศวิถี 
  • สีแดง : ชีวิต
  • สีส้ม : การเยียวยาจิตใจ
  • สีเหลือง : แสงอาทิตย์
  • สีเขียว : ธรรมชาติ
  • สีฟ้าเทอควอยซ์ : ศิลปะ ความมหัศจรรย์ 
  • สีคราม : ความกลมกลืน ความเท่าเทียม 
  • สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ

จากเดิมที่ธงสีรุ้งมี 8 เฉดสี ได้มีการปรับให้เหลือเพียง 6 สีด้วยกัน โดยตัดสีชมพูและสีครามออกไป จึงเหลือเพียงสีแดง สีส้ม สีเหลือง สีเขียว สีเทอควอยซ์ และ สีม่วง เท่านั้น โดยต้นฉบับของธง 8 สี ที่เป็นสัญลักษณ์แรกของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ได้ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ MoMA ณ เมืองนิวยอร์ก และสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ เพื่อเป็นการระลึกถึงสัญลักษณ์แรกของศูนย์รวมจิตใจกลุ่มหลากหลายทางเพศ 

แม้แต่เดิมจะมีการกำหนดเพศที่มีเพียงแค่ “ชาย” และ “หญิง” เท่านั้น แต่มันก็เป็นบริบทที่ถูกสร้างขึ้นตามบทบาทเปลือกนอกของสังคมที่อุปโลกขึ้น หากว่ากันตามจริงแล้ว หากไม่มีการแยกเพศ หรือต่อให้เป็นเพศใดก็ตาม เราทุกคนล้วนมีความเท่าเทียมกันในฐานะของการเป็น “มนุษย์” คนหนึ่ง ซึ่งมีความหมายเพียงหนึ่งเดียวคือ ผู้มีใจสูง ดังนั้น การเป็นมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศวิถี แต่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ การมีความเอื้ออาทร และพร้อมเข้าใจในทุกความแตกต่าง โดยไม่แตกแยก และสามารถกลมกลืนได้ในความหลากหลายที่ไม่จำกัด และนั่นจะทำให้โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน