อุ๊ยๆๆ “ตากระตุก” โชคร้ายหรือโชคดีน๊ออ ??
เชื่อว่าหลายคนต้องเคยมีอาการตากระตุก แล้วสิ่งแรกที่คุณคิดคือ..? สุขภาพ หรือ โชคลาง?
ตากระตุก คืออะไร
Eye Twitching หรือ อาการตากระตุก คือ อาการที่เปลือกตามีการเคลื่อนไหวรวดเร็วกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นเพียงเล็กน้อย แต่บางครั้งก็อาจมีอาการถี่ จนสร้างความรำคาญ และอาจทำให้กังวลได้สำหรับใครบางคน เพราะถึงแม้ว่าตากระตุก จะไม่มีอาการรุนแรง ไม่มีอาการเจ็บปวด และสามารถหายเองได้ แต่ในบางกรณีอาจไม่สามารถหายเองได้ มีอาการตากระตุกเกร็ง ทำให้เปลือกตาด้านบนปิดลงมาจนไม่สามารถลืมตาได้ปกติ หรืออาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงบางชนิด เช่น โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia) โรคอัมพาตใบหน้า (Bell’s Palsy) เป็นต้น
ตากระตุก เกิดจากอะไร
อาการตากระตุก สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ความเครียดสะสม การพักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือแอลกอฮอลล์มากเกินไป สูบบุหรี่จัด มลพิษทางอากาศ โรคภูมิแพ้ อยู่ที่มีแสงสว่าง หรือแสงจ้าเป็นเวลานาน ใช้สายตาหน้าจอคอมฯ หรือจ้องโทรศัพท์เป็นเวลานาน จนตาล้า ตาแห้ง การขาดวิตามิน หรือสารอาหารบางชนิด และอาจจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เป็นต้น จึงควรหลีกเลี่ยงเหตุปัจจัยเหล่านี้ หรือลดให้น้อยลง รวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ นวดกล้ามเนื้อรอบดวงตา ประคบอุ่นบริเวณดวงตาประมาณ 10 นาที หรือหยอดน้ำตาเทียม เมื่อรู้สึกตาแห้ง หากอาการยังไม่ดีขึ้น ตากระตุกไม่หยุด ควรรีบทำการพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อได้รับการวินิจฉัย พร้อมการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงที ก่อนจะส่งผลร้ายแรงอย่างคาดไม่ถึง
ควรพบแพทย์เมื่อไรเมื่อมีอาการตากระตุก
อาการตากระตุกนี้ มักจะถูกเชื่อมโยงไปยังเรื่องของความเชื่อ และโชคลาง ดังประโยคที่เรามักจะได้ยินกันว่า “ขวาร้าย ซ้ายดี” ซึ่งอาการตากระตุกทั่วไป มักจะมีอาการไม่นาน และหายได้เอง แต่ถ้าหากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
- ตากระตุกติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- ตำแหน่งของการกระตุกเพิ่มขึ้น อย่างตากระตุกข้างซ้าย แล้วเปลี่ยนเป็นตากระตุกข้างขวา หรือกระตุกทั้ง 2 ข้าง หรือมีอาการกระตุกที่บริเวณอื่นด้วย เช่น มุมปาก แก้ม
- มีอาการหดเกร็งหรืออ่อนแรงตรงบริเวณที่เกิดอาการตากระตุก
- เปลือกตาด้านบนห้อยพับลงมา จนรบกวนการมองเห็น
- เปลือกตาปิดสนิทเมื่อเกิดอาการตากระตุก
- มีอาการตาบวม ตาแดง มีขี้ตามากกว่าปกติ
- น้ำตาไหล
การรักษาอาการตากระตุก
เมื่อมีอาการที่บ่งบอกว่าควรพบแพทย์ หลังจากแพทย์ทำการวินิจฉัยโรค จะได้รับการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการตรวจ ซึ่งวิธีการรักษาตากระตุก อาจเป็นไปได้ดังนี้
- กลุ่มยากิน ยาปฏิชีวนะ สำหรับช่วยบรรเทาอาการ และหยุดการกระตุกของดวงตาชั่วคราว แต่ด้วยกลุ่มยาเหล่านี้ มักจะมีผลข้างเคียง จึงต้องใช้ภายใต้การแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น ยาไตรเฮกซีเฟนิดิล (Trihexyphenidyl) ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) และ ยาลอราซีแพม (Lorazepam)
- การฉีดโบท็อกซ์ (Botox) หรือ Botulinum Toxin สำหรับวิธีแก้ตากระตุก เพื่อใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง ที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยแพทย์จะทำการฉีดโบท็อกซ์ตรงบริเวณกล้ามเนื้อรอบดวงตา หรือบริเวณที่มีอาการกระตุก หลังจากที่ฉีดโบท็อกซ์ กล้ามเนื้อเปลือกตามัดที่กำลังหดเกร็งจะคลายตัว ทำให้อาการกระตุกลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ฤทธิ์ของโบท็อกซ์จะอยู่ได้ประมาณ 3-6 เดือน หากมีอาการตากระตุกกลับมา จะต้องกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง
เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอาการตากระตุก จึงต้องดูแลสุขภาพตัวเอง ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการเปลือกตากระตุก ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือจำกัดปริมาณการดื่มให้น้อยลง งดสูบบุหรี่ หากิจกรรมที่สนใจ เพื่อลดความเครียดสะสม อย่าง การปลูกต้นไม้ การเล่นโยคะ การออกกำลังกาย การนวดผ่อนคลาย เป็นต้น และทานอาหารที่มีประโยชน์ พยายามทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดตากระตุกได้ แต่ถ้ายังมีอาการและทำอย่างไรก็ไม่หาย จะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
ตากระตุกกับความเชื่อ
คนไทยมีความเชื่อเรื่องของโชคลางมาอย่างยาวนาน รวมถึงอาการกระตุกของส่วนต่างๆ ในร่างกาย อาการตากระตุก ก็ถูกจัดอยู่ในนั้นด้วย นอกจากทางเรื่องของสุขภาพแล้ว เราลองมาดูกันว่า คนไทยมีความเชื่อเรื่องอาการตากระตุก ลางสังหรณ์ หรือการบอกเหตุล่วงหน้าว่าอย่างไรกันบ้าง โดยส่วนใหญ่จะมีเรื่องของช่วงเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนี้
- ตากระตุกช่วงเช้า (ตื่นนอน – 09.00 น.)
ตาขวากระตุก : จะมีญาติจากทางไกลเดินทางมาเยี่ยมในเร็วๆนี้
ตาซ้ายกระตุก : ระวังเรื่องการใช้คำพูด อาจมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง
- ตากระตุกช่วงสาย (09.01 – 12.00 น.)
ตาขวากระตุก : จะมีญาตินำลาภ หรือสิ่งของมาให้
ตาซ้ายกระตุก : คนในครอบครัวมีปัญหาบางอย่าง
- ตากระตุกช่วงบ่าย (12.01 – 16.00 น.)
ตาขวากระตุก : จะสมหวังในสิ่งที่ปรารถนา
ตาซ้ายกระตุก : มีเพศตรงข้ามคิดถึง จะมีเพศตรงข้ามเดินทางมาหา
- ตากระตุกช่วงเย็น (16.01 – 19.00 น.)
ตาขวากระตุก : จะได้พบญาติ หรือมิตรที่ห่างหายไปนาน
ตาซ้ายกระตุก : ญาติ หรือคนสนิท มาหาสู่
- ตากระตุกช่วงกลางคืน (19.01 – ก่อนนอน)
ตาขวากระตุก : จะมีปากเสียง หรือทะเลาะกับคนในครอบครัว
ตาซ้ายกระตุก : จะมีข่าวดีเรื่องงานเร็วๆนี้
นับว่าเป็นความเชื่อของคนไทยแต่โบราณ และมีการสืบทอดความเชื่อนี้กันมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อมีการพัฒนาในระบบทางการแพทย์ จึงได้มีการอธิบายสาเหตุของอาการตากระตุก ที่อาจเกิดมาจากอาการป่วย หรือโรคบางชนิด ซึ่งอาจไม่ใช่เป็นลางบอกเหตุแต่อย่างใด แต่เป็นเสียงบอกความเจ็บป่วยของร่างกายต่างหาก แต่ถึงอย่างนั้น อาการตาเขม่น ก็ยังคงเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ที่ยังคงควบคู่กับคนไทย หากเกิดตาเขม่นระยะสั้นๆ และหายเองในระยะสั้นๆ คงไม่มีผลอะไร แต่ขอย้ำอีกครั้งว่า ถ้าหากตาเขม่น หรือมีอาการตากระตุก ที่บ่งบอกว่าผิดปกติ จะต้องไม่ประมาท และรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด