อัลลินา เดย์ Bangkok Thailand
สัตว์เลี้ยง สุขภาพ

อาการแมวเครียดดูยังไง พร้อมเผยวิธีดูแลเมื่อแมวมีความเครียด 

การคอยดูแลและเอาใจใส่น้องแมว เพื่อป้องกันน้องแมวไม่ให้เครียดจึงเป็นสิ่งสำคัญของทาสทั้งหลาย แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าน้องแมวกำลังเครียด และการดูแลน้องแมวที่มีอาการเครียดต้องทำยังไง เรามีมาฝากทาสเหมียวไว้ในบทความนี้แล้วค่ะ

วิธีสังเกตอาการเครียดของแมว ดูได้จากสัญญาณเตือนต่อไปนี้ 

ความผิดปกติทางร่างกาย 

  • ท้องเสีย : อาการท้องเสีย นอกจากจะบ่งบอกถึงของปัญหาสุขภาพแล้ว ยังสามารถเตือนให้รู้ได้ด้วยว่า น้องแมวกำลังมีอาการเครียด จึงส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ อ่อนเพลีย และอาจเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ หากน้องแมวมีอาการท้องเสียติดต่อกัน 2 – 3 วัน ควรรีบพาไปพบสัตว์แพทย์
  • อาเจียน : แมวที่มีอาการเครียด มักจะมีอาการอาเจียนบ่อย หรืออาจอาเจียนนานติดต่อกัน 2 – 3 วัน ควรรีบพาส่งสัตวแพทย์ทันที เพราะหากน้องแมวอาเจียนต่อเนื่อง จะทำให้ร่างกายขาดน้ำ ขาดสารอาหาร และป่วยหนักยิ่ง
  • เบื่ออาหาร : ความเครียดจะทำให้น้องแมวกินน้ำและอาหารน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำและสารอาหาร ทำให้น้องแมวอ่อนแอ ป่วยง่าย 
  • น้ำมูกและน้ำตาไหล : เมื่อมีอาการน้ำตาไหล จะทำให้เกิดคราบน้ำตาเกรอะกรัง เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย และอาการน้ำมูกไหล อาจทำให้แมวเลียจมูกบ่อยขึ้นเพราะรู้สึกไม่สบาย ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน 
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ : ความเครียดส่งผลต่อการกินของแมว จึงเชื่อมโยงไปถึงเรื่องน้ำหนักตัวด้วยเช่นกัน หากน้องแมวมีอาการเบื่ออาหาร ก็จะทำให้น้ำหนักลดลงเร็วผิดปกติ ร่างกายอ่อนแอและป่วยง่าย แต่หากน้องแมวตัวไหนเครียดแล้วกินอาหารมากขึ้น ก็ย่อมทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อโรคอ้วน โรคหัวใจ และปัญหาโรคไต 

ความผิดปกติทางพฤติกรรม 

  • พฤติกรรมเปลี่ยนไปผิดปกติ : จากน้องแมวขี้อ้อน เรียกเท่าไรก็มาหา ชอบอยู่ใกล้เจ้าของ กลายเป็นเจ้าเหมียวอารมณเหวี่ยง เดี๋ยวตบ เดี๋ยวสวบ กระสับกระส่าย เก็บตัวและหนีออกห่างผู้คน แม้แต่เจ้าของที่เขาเคยรัก อาจบ่งบอกได้ว่าน้องแมวกำลังมีอาการเครียด 
  • ขับถ่ายไม่เป็นที่ : สาเหตุที่น้องแมวขับถ่ายไม่เป็นที่ เป็นอีกสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าน้องแมวกำลังมีความวิตกกังวล หรือมีความเครียดได้เช่นกัน เช่น อาจมีการขนย้ายน้องแมวไปที่ใหม่ หรือการย้ายบ้าน เป็นต้น เพราะน้องแมวจะรู้สึกไม่ปลอดภัย จนทำให้มีการขับถ่ายไม่เป็นที่ หรือมีพฤติกรรมขับถ่ายนอกกระบะทราย ซึ่งอาการเหล่านี้อาจมีไปสักระยะหนึ่งจนกว่าน้องแมวจะปรับตัวได้ 
  • ร้องเรียกบ่อย : หากจู่ ๆ น้องแมวร้องเรียกทาสบ่อยผิดปกติ อาจเป็นไปได้ว่าแมวกำลังเรียกร้องความสนใจจากทาสคนโปรด หรืออาจกำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หากพบอาการเช่นนี้ เจ้าของควรสังเกตทางด้านร่างกายและพฤติกรรมอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด
  • ลับเล็บผิดปกติ : แมวเป็นสัตว์ที่ชอบลับเล็บ เพื่อให้เล็บมีความแหลมคมพร้อมล่าอยู่เสมอ และเป็นการกำจัดเซลล์เนื้อเยื่อที่ตายแล้วในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าหากน้องแมวลับเล็บบ่อยจนผิดปกติ เป็นสัญญาณความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นทางร่างกายหรืออารมณ์ และอาจเป็นไปได้ว่าแมวกำลังเครียด 

วิธีการดูแลรักษาแมวเครียด 

  • เลือกกระบะทรายให้เหมาะกับขนาดของตัวแมว เพื่อบรรเทาอาการแมวเครียด จัดวางกระบะทรายในบริเวณที่สงบ ห่างไกลจากความวุ่นวาย หรือมีผู้คนเดินผ่าน เพราะช่วงเวลาขับถ่าย น้องแมวจะลดการป้องกันตัวลง จึงต้องการความเป็นส่วนตัว และควรทำความสะอาดกระบะทรายเป็นประจำ ไม่เช่นนั้น น้องแมวอาจไม่ยอมใช้กระบะทราย และถ่ายนอกกระบะทรายแทน 
  • ให้อาหารคุณภาพดีและมีรสชาติที่อร่อยถูกใจ หากช่วงไหนน้องแมวเครียด หรือทานอาหารน้อยลง ให้ลองเสิร์ฟของโปรดที่น้องแมวชอบเป็นพิเศษ เพราะการกินอาหารที่ถูกใจจะช่วยเยียวยาให้น้องแมวได้
  • นวดและลูบแมวเบา ๆ ในห้องเงียบ ๆ จะช่วยลดความเครียดให้กับน้องแมวและตัวเราเองด้วย
  • พูดกับน้องแมวด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล อ่อนโยน ช่วยบรรเทาให้น้องแมวรู้สึกสงบ และเครียดน้อยลง 
  • แคทนิป หรือกัญชาแมว จัดให้น้องแมวสักหน่อย บรรเทาความเครียด ช่วยเพิ่มอารมณ์ดีได้ทั้งวัน 
  • ของเล่นหรือคอนโดแมว เพราะแมวเป็นสัตว์ที่ชอบอยู่บนที่สูงเพื่อสอดส่องสิ่งแวดล้อมรอบตัว และรู้สึกปลอดภัย การได้เล่นปีนป่าย หรือได้เล่นของเล่นเป็นการออกกำลังกาย ได้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียดได้ 
  • เตรียมที่ลับเล็บให้ เพื่อให้น้องแมวได้มีที่ลับเล็บ ได้ระบายอารมณ์ รู้สึกผ่อนคลาย และเครียดน้อยลง และหากมีที่ลับเล็บของน้องแมวโดยเฉพาะ จะช่วยให้น้องแมวไม่ไปลับเล็บตามโซฟาของทาสยังไงล่ะ 
  • ปรึกษาและขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ เพื่อได้ดูแลน้องแมวได้อย่างตรงจุด เพราะแมวแต่ละตัวมีนิสัยที่แตกต่างกันไป อาจต้องดูแลหรือเอาใจใส่เป็นพิเศษในบางตัว